สิ่งที่ควรคำนึง ใน การดูแลพ่อ แม่ ยามเมื่อท่าน สูงวัย และ เจ็บป่วย
๑. ไม่ว่าเราจะโตแค่ไหน มีความรู้เยอะเพียงใด อายุก็ยังห่างกับพ่อแม่เท่าเดิม อย่าพยายามที่จะเปลี่ยนพฤติกรรมของท่าน ถึงแม้จะเป็นพฤติกรรมที่ไม่เป็นผลดีต่อโรคเลยก็ตาม เถียงกันไปเราจะเหนื่อยทั้งกายและปวดทั้งใจ ให้ค่อยๆ แทรกซึมเข้าไปในชีวิตท่านอย่างเนียนๆ วันหนึ่งที่พ่อแม่เห็นด้วยตัวเองว่า ทำแบบนี้แล้วสบายตัวขึ้น ท่านจะยอมทำเอง
๒. ดูแลพ่อแม่อย่างลูกพึงดู ไม่ใช่อย่างผู้รู้ นักวิชาการ หรือผู้ปกครอง อย่าลืมว่าพ่อแม่ทุกคนต้องการความรัก ความอบอุ่น และความเคารพจากลูกมากกว่าอะไรทั้งหมด ถึงแม้บางท่านอาจจะแสดงออกในทางตรงกันข้ามก็ตาม
๓. ไม่มีใครอยากเป็นคนป่วย อยากช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ หรืออยากเป็นคนแก่ที่สูญเสียความเคารพตัวเองและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ข้อนี้คนเป็นลูกมักจะมองข้ามมากที่สุด ไม่ว่าท่านจะป่วยหรือแก่ขนาดไหนก็ตาม ท่านมีสิทธิเต็มที่ ที่จะได้รับการปฏิบัติต่อด้วยความเคารพ
๔. อย่ายัดเยียดสิ่งที่เราเห็นว่า เหมาะที่สุดกับพ่อแม่ โดยท่านไม่เต็มใจ ถึงแม้มันจะเป็นสิ่งที่เลิศเหลือเกินในสายตาเรา หรือชาวโลกก็ตาม อย่าบ่นว่า หาคนมาดูแลก็ไม่เอา ซื้อเตียงใหม่ให้ก็ไม่ชอบ ทำห้องให้ใหม่ก็ไม่ยอมอยู่ หมอที่เก่งกว่าตั้งเยอะ ก็ไม่ยอมเปลี่ยน ขอให้ค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไป เมื่อความไว้เนื้อเชื่อใจเกิดขึ้น ผู้ใหญ่จะรับความหวังดีจากเราด้วยความเต็มใจเอง
๕. การเปลี่ยนบทบาทจาก ผู้ถูกดูแล มาเป็นผู้ดูแล ทั้งทางกาย ทางใจ ทางทุนทรัพย์ เป็นการเปลี่ยนแปลงที่อาศัยเวลาและความเข้มแข็งมหาศาล อย่าโทษตัวเอง ถ้าพบว่ามันไม่ง่ายและท้อแท้ คิดถึงหัวใจที่ยิ่งใหญ่ของพ่อแม่ แล้วจะพบว่าหัวใจของลูกที่พร้อมจะทำทุกอย่างเพื่อตอบแทนท่าน ไม่ได้ยิ่งใหญ่น้อยไปกว่ากันเลย
๖. ถึงเวลาแล้ว ที่ต้องรู้เวลากิน นอน ขับถ่าย ความดัน ปริมาณอาหารและยา และการตอบสนองทั้งหมดต่อสิ่งเหล่านั้น รวมทั้งเบอร์โรงพยาบาล หมอ และ ambulance เพราะเหตุฉุกเฉิน เกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ ข้อมูลยิ่งพร้อม การรักษาพยาบาลก็ยิ่งเป็นผลดี
๗. เป็นคนพาพ่อแม่ไปหาหมอทุกครั้ง แรกๆอาจได้รับการปฏิเสธไม่ให้ไปด้วย ให้พยายามแทรกซึมจนท่านชินที่มีเราไปอำนวยความสะดวก ที่สุดแล้วท่านจะรู้สึกชินกับความสบายนี้ และเปิดใจให้เราเป็นส่วนหนึ่งของการรักษา
๘. หากจะจ้างคนดูแล เราต้องแน่ใจที่สุดว่าเรามีเวลาในการดูแลการทำงานของเขาอย่างใกล้ชิด คนดูแลไม่ได้รู้อะไรมากไปกว่าเรา และไม่ได้มีใจรักพ่อแม่เราอย่างที่เรามีแน่นอน
๙. จัดหาทุกอย่างที่พ่อแม่เคยชอบเคยใช้ แม้ว่าจะไม่ค่อยได้ใช้แล้วก็ตาม เช่น เสื้อผ้าที่นานๆ จะมีโอกาสใส่สักครั้งหนึ่ง นอกจากท่านจะรู้สึกว่าเราเอาใจใส่แล้ว ท่านจะยังรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า ไม่มีอะไรเสื่อมถอยจนด้อยค่า ใช้ของดีๆ สวยๆ ไม่ได้แล้ว คุณค่าทางใจแบบนี้ประมาณค่าไม่ได้เลย
๑๐. แบ่งหน้าที่กันกับพี่น้อง หรือคนในครอบครัวให้ชัดเจน จะช่วยลดภาระทางกายและทางใจลงได้มาก อย่างน้อยที่สุด ก็ลดความตึงเครียดในครอบครัว รวมทั้งลดการดูแลซ้ำซ้อน เช่น การให้ยาซ้ำ อันอาจเป็นอันตรายได้
๑๑. คุยทิศทางการรักษา และการดูแลกับคนในครอบครัวให้ชัดเจนก่อนคุยกับหมอ เมื่อหมอเสนอวิธีการรักษาอะไร อย่ากลัวที่จะถาม หรือขอเวลาหมอหาข้อมูลเพิ่มเติม second และ Third Opinion สำคัญเสมออย่าหลับหูหลับตาเชื่ออะไรที่ไม่เข้าใจ และก่อนตัดสินใจอะไรสำคัญๆ ทุกครั้ง อย่าลืมหาข้อมูลของแต่ละทิศทางและผลข้างเคียงประกอบการตัดสินใจด้วย
๑๒. ถ้าคุยกับคนในครอบครัวไม่รู้เรื่อง ญาติที่ไกลออกไปหน่อยที่มีความเป็นกลาง จะช่วยไกล่เกลี่ยได้ดีมาก จำไว้เสมอว่าเราอาจเป็นคนที่คิดผิดเองก็ได้ และทิฏฐิมานะไม่เคยช่วยให้อะไรดีขึ้น
๑๓. เกิดอะไรผิดพลาด อย่ามัวแต่โทษตัวเองหรือปิดบังความจริงให้รีบแจ้งหมอแจ้งครอบครัว และช่วยกันแก้ไขปัญหา ทุกข้อมูลสำคัญกับการรักษาทั้งสิ้น
“ขออนุโมทนากับลูกทุกคนที่มีโอกาสดูแลพ่อแม่”
เมื่อเราทำเต็มที่ ใจจะไม่รู้สึกขาดเลย ใจจะอิ่มจะเต็มเสมอ
#สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย
ใส่ความเห็น