fbpx

+++ การวางแผนการออมอย่างสุขุมและลุ่มลึก ในวัย 60+

วัยเกษียณ วัยที่คนส่วนใหญ่จะไม่ค่อยมีรายได้แบบ active กันเท่าไหร่แล้ว แต่รายจ่ายจะยังคงมีอยู่ หลักๆ ก็คงจะเป็นค่ากิน ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพเป็นหลัก และเป็นวัยที่จะต้องเริ่มส่งต่อความมั่งคั่งให้กับรุ่นต่อไปด้วย แต่เราต้องไม่ลืมว่า

วัยเกษียณของคนสมัยนี้มันค่อนข้างจะยาวนานกว่าคนยุคก่อนจากความก้าวหน้าทางการแพทย์ ดังนั้น เราจะต้องวางแผนการเงินให้รัดกุม ไม่เช่นนั้นเงินที่เก็บไว้ใช้ในวัยเกษียณอาจจะไม่เพียงพอ และไม่ใช่แค่เรื่องวางแผนทางการเงินเท่านั้น

คนวัยเกษียณก็ควรที่จะหาอาชีพเสริมทำด้วยเช่นกัน เรื่องเงินเป็นผลประโยชน์ทางอ้อม แต่ผลประโยชน์ทางตรงคือเรื่องของสังคม การมีเพื่อนร่วมงานและยังได้ใช้ความคิดและการตัดสินใจทำให้ลดความเสี่ยงการเป็นอัลไซเมอร์และภาวะซึมเศร้าได้ สุดท้าย เป็นเรื่องของความภูมิใจ

ถ้าเราไม่ทำอะไรเลยอยู่บ้านเฉยๆ เราอาจจะรู้สึกเห็นค่าในตัวเองน้อยลง คงจะไม่ดีถ้าเราจะสบายกายแต่ไม่สบายใจ มาดูกันว่า คนวัยเกษียณ 60+ ขึ้นไปควรมีวิธีและข้อคิดในการออมอย่างไร

อย่าลงทุนเสี่ยงเกินไป และปลอดภัยเกินไป

เข้าถึงวัยเกษียณแล้ว ไม่ควรลงทุนอะไรที่มันเสี่ยงเกินไป คำว่าลงทุน ให้ครอบคลุมไปถึงการลงทุนในการทำธุรกิจจริงด้วย เช่นอาจจะมีคนเห็นว่าเราเพิ่งเกษียณคงจะมีเงินเก็บพอสมควร ก็มาชวนไปลงทุนอะไรที่ออกแนวแชร์ลูกโซ่เลย โดยเอาผลตอบแทนที่สูงโอเวอร์มาเป็นตัวล่อ

ในภาวะดอกเบี้ยต่ำแบบทุกวันนี้ การเอาผลตอบแทนสูงๆ มาล่อแต่สุดท้ายก็กลายเป็นศูนย์เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง วิธีลงทุนที่ดีที่สุดสำหรับคนวัยเกษียณก็น่าจะเป็นการลงทุนผ่านกองทุนรวมที่มีการจัดพอร์ตการลงทุที่มีความเสี่ยงที่เหมาะสมกับความสามารถในการรับความเสี่ยงของแต่คน และความจำเป็นในการใช้เงินมากกว่า

ที่บอกว่าอย่าลงทุนที่ปลอดภัยเกินไป หมายถึงสินทรัพย์ที่เราไปลงทุน ถ้ากลัวความเสี่ยงจนเกินเหตุ เอาแต่ฝากเงินไว้ในบัญชีฝากประจำ มันปลอดภัยมากก็จริง ความเสี่ยงในการสูญเสียเงินต้นก็ต่ำมาก แต่ผลตอบแทนมันก็ต่ำสุดๆ เช่นกัน ปัจจุบัน ดอกเบี้ยที่แท้จริงของไทย (ดอกเบี้ยนโยบายลบด้วยเงินเฟ้อ) ต่ำมาก อยู่ที่ระดับ (1.50% – 0.98%) 0.52% เท่านั้น

ถ้าเราวางแผนเกษียณไว้ถึงอายุ 80 ปี แต่เรากลับอยู่ได้ถึง 90 ปี เงินเกษียณมันคงไม่เพียงพออย่างแน่นอน เราควรจะมีการกระจายการลงทุน มีทั้งเงินฝาก ตราสารหนี้ และกองทุนที่ลงทุนในหุ้น แต่สัดส่วนของกองทุนหุ้นไม่จำเป็นจะต้องสูงมากเหมือนตอนก่อนเกษียณ

ทำงานไปด้วยมีสังคมไปด้วย ไม่ต้องกังวลเรื่องรายได้

เกษียณแล้วก็ควรจะยังต้องหาอะไรทำอยู่ ควรหาอาชีพรองรับสำหรับวัยเกษียณในช่วงที่เราอายุ 50+ ที่แนะนำว่าคนวัยเกษียณยังควรจะต้องทำงานอยู่ มันเป็นมากกว่าเรื่องของเงิน เป็นเรื่องของสุขภาพร่างการและสุขภาพของจิตใจเสียมากกว่า

การอยู่บ้านเฉยๆ วันๆ ไม่ทำอะไรมาก เน้นเล่น Facebook Line หรือดู Netflix ช่วงแรก ๆ ก็คงจะมีความสุขดี แต่พอผ่านไปสักพักก็คงจะเริ่มเบื่อกัน คนเคยทำงานมาร่วมๆ 40 ปี ให้อยู่เฉยๆ ไม่ทำอะไรเลยก็คงจะแปลกๆ การมีงานทำสำหรับคนวัยเกษียณ ไม่จำเป็นว่าจะต้องทำเต็มเวลา หรือได้ค่าจ้างในระดับสูง

แต่เป็นงานที่ทำให้เราได้มีการเคลื่อนไหว ได้ยืดเส้นยืดสาย มีเพื่อนคุย มีสังคม ได้ใช้สมองในการตัดสินใจ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะทำให้คนวัยเกษียณไม่แก่เร็ว และยังมีความภูมิใจในตัวเองด้วย ว่าอายุมากแต่ก็ไม่เป็นภาระให้ใคร สุขภาพจิตดี สุขภาพกายก็จะดีตาม แถมมีรายได้มาช่วยค่าใช้จ่ายอีกด้วย

แบ่งเงินเป็นส่วนๆ เพื่อใช้จ่าย ผ่านการลงทุนทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว

สินทรัพย์ทางการเงินมีอะไรบ้างและแต่ละอย่างเป็นสัดส่วนเท่าไหร่ ในรายละเอียด ควรจะมีการแบ่งเงินเก็บไว้เป็นส่วนๆ ห้ามปนกัน และควรแบ่งการลงทุนเป็น 3 ก้อนหลัก ๆ ดังนี้

เงินก้อนแรก ลงทุนระยะสั้น ให้แบ่งไว้เก็บในบัญชีออมทรัพย์หรือกองทุน Money Market ก็ได้ โดยให้จำนวนเงินมีเยอะพอที่จะใช้ได้อย่างน้อย 2 ปี เช่น ในแต่ละเดือนต้องใช้ประมาณ 30,000 บาท ก็ให้เก็บเงินไว้ในส่วนนี้ประมาณ 720,000 บาท (30,000 x 24 เดือน)

เงินก้อนที่ 2 ลงทุนระยะกลาง เงินก้อนนี้อยากแนะนำให้เอาไปลงทุนในหุ้นกู้ของบริษัทที่มีชื่อเสียงดีมาอย่างยาวนานและมีเครดิตเรทติ้งสูงตั้งแต่ระดับ A- ขึ้นไป และมีอายุหุ้นกู้ประมาณ 5 ปี จำนวนเงินที่ลงทุนให้คำนวณจากค่าใช้จ่ายภายในระยะเวลา 5 ปี ประมาณ 1,800,000 บาท (30,000 x 60 เดือน)

โดยที่หุ้นกู้ลักษณะนี้ จะได้ดอกเบี้ยปีละประมาณ 2.75 – 3.00% แล้วแต่ช่วงแล้วแต่โอกาส ไม่แนะนำให้ซื้อหุ้นกู้ที่มีเครดิตเรทติ้งต่ำ ถ้าเกิดบริษัทที่ออกหุ้นกู้เกิดมีอันเป็นไป ผู้ถือหุ้นกู้จะเสียทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย

การลงทุนในหุ้นกู้สมัยนี้เป็นเรื่องที่ง่าย และเวลาที่ต้องการใช้เงินก้อนก็สามารถขายได้ไม่ยาก มีตลาดรองของตราสารหนี้รองรับ สภาพคล่องของตลาดตราสารหนี้ค่อยๆ เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ต้องกังวลเรื่องขายต่อ

เงินก้อนที่ 3 ลงทุนระยะยาว ให้นำไปลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ที่ลงทุนในตราสารหนี้ทั่วโลกที่มีเครดิตเรทติ้งสูง จำนวนเงินก้อนนี้คำนวณจากค่าใช้จ่ายภายในระยะเวลา 10 ปี ก็จะเป็นเงินประมาณ 3,600,000 บาท (30,000 x 120 เดือน) โดยเงินก้อนนี้ก็น่าจะได้ผลตอบแทนต่อปีราว 3 – 4% ต่อปี และข้อดีของการลงทุนในกองทุนคือเรื่องของสภาพคล่อง สามารถขายและได้เงินภายในไม่กี่วันทำการ

เงินก้อนสุดท้าย ถ้ายังมีเงินเหลือจากการแบ่งเงินเป็น 3 ส่วนที่ได้กล่าวไปแล้ว เงินก้อนนี้ก็ควรเก็บไว้ในส่วนของ “การส่งต่อ”

รักตัวเองก่อน อย่าเอาเงินไปให้ลูกหลานหมด (แต่ต้องให้นะ)

การส่งต่อความมั่งคั่งให้กับรุ่นต่อไป ถือเป็นอีกหน้าที่ที่มีความสำคัญของพ่อแม่ หรือหลายๆ คนอยู่ในสถานะปู่ย่า หรือตายายแล้วด้วย แต่อย่าลืมว่าอย่างไรก็ตาม เราต้องรักตัวเองก่อน ถ้าเราให้ทรัพย์สินที่เรามีทั้งหมดไปเลยในยามที่เราเพิ่งจะเกษียณ

มันไม่ได้มีอะไรมารับประกันได้เลยว่าเราจะได้รับการดูแลเลี้ยงดูอย่างที่หวังไว้ ถ้าเกิดเหตุการณ์ “ผิดคาด” ขึ้นมา ไม่มีใครมาดูแล เงินก็ไม่เหลือแล้วเพราะให้ไปหมดแล้ว เราจะลำบากมาก แต่ยังไงก็ต้องให้นะ แต่เป็นการทยอยให้เสียมากกว่า

ในยามที่เราเกษียณ ลูกๆ ก็คงจะอายุประมาณ 30 ขวบบวกลบเล็กน้อย อาจจะเป็นวันที่พวกเขาอาจจะอยากเริ่มทำธุรกิจเล็กๆ เป็นของตัวเองและต้องการเงินทุน ให้ในยามที่พวกเขายังหนุ่มยังสาวและยังมีแรง ดีกว่าไปรอให้ตอนที่พวกเขาอายุเกิน 50 ที่คงจะไม่อยากไปเริ่มทำอะไรแล้ว

ย้ำนะครับ “ให้ได้ แต่อย่าให้จนหมด” รู้จักประมาณตน

ว่ากันตามตรง คงจะไม่มีใครอยากแก่อยู่แล้ว แต่มนุษย์เราก็ไม่สามารถฝืนธรรมชาติได้ สิ่งสำคัญคือเราต้องรู้จักตัวเอง รู้จักประมาณตน อะไรที่ไม่ควรทำก็อย่าไปทำ อะไรที่ไม่ควรกินก็อย่าไปกินเช่นอาหารที่เค็มหรือหวานเกินไป เน้นทานผักมากกว่าเนื้อสัตว์ หมั่นออกกำลังกายที่ไม่หนักมาก

กิจกรรมเสี่ยงที่ควรหลีกเลียงหรือลดลงได้ก็ควรทำเช่นการขับรถยนต์ส่วนตัว ถ้ายังไหวอยู่ก็ขับอย่าเร็วมาก แต่ถ้าไม่จำเป็นจริงๆ ก็เน้นใช้บริการสาธารณะน่าจะสะดวกและปลอดภัยกว่า รู้จักประมาณตนไว้ลูกหลานจะได้ไม่ต้องเป็นห่วง ตัวเราเองก็จะไม่ลำบากด้วย

สิ่งที่เราต้องทำมาตลอดร่วม 40 ปี ก็เพื่อที่จะมีวัยเกษียณที่สดใสและได้เห็นลูกหลานมีอาชีพการงานที่มั่นคง กว่าจะมาถึงวัยเกษียณที่มีพร้อมทั้งความมั่งคั่งและสุขภาพที่ดีได้ ต้องอาศัยเวลา ความอดทน และวินัย เป็นอย่างมาก

ประเทศไทยถือว่าพร้อมมากสำหรับเครื่องมือในการออมและการลงทุน มีพร้อมทั้งหุ้นไทย หุ้นต่างประเทศ กองทุนทั้งแบบลงทุนปกติและลดหย่อนภาษี ETF และตราสารหนี้ อยู่ที่ตัวเราแล้วว่าจะเริ่มเมื่อไหร่ และจริงจังกับมันมากแค่ไหน เวลามันผ่านไปเร็วมาก

สิ่งที่ไม่เคยคิดว่าจะเกิดก็เกิดขึ้นได้ ใครเลยจะเชื่อว่าดอกเบี้ยธนาคารจะต่ำขนาดนี้และมีแนวโน้มจะต่ำลงไปอีก พันธบัตรรัฐบาลทั่วโลกที่ให้ผลตอบแทนติดลบจะมีสูงถึง 17 ล้านล้านเหรียญ เงินเฟ้อของไทยอยู่ต่ำกว่า 1% เราอยู่ในยุคที่เศรษฐกิจเติบโตต่ำ ดอกเบี้ยต่ำมาก และประชากรมีแนวโน้มว่าจะเริ่มลดลง

เราไม่รู้หรอกว่าอนาคตจะเกิดอะไรขึ้นอีกบ้าง สิ่งที่พอจะทำได้คือการวางแผนทางการเงิน ปฏิบัติตามแผนอย่างมีวินัย และมีการปรับเปลี่ยนแผนไปตามสถานการณ์อยู่เป็นระยะ ๆ ในอดีต เราจะยกย่องคนที่ฉลาด เพราะมี IQ หรือความฉลาดทางสติปัญญาสูง ต่อมา เราเริ่มที่จะยกย่องคนที่สามารถในการ

ควบคุมอารมน์ได้ดี เพราะมี EQ หรือความฉลาดทางอารมณ์สูง ในยุคปัจจุบัน ความฉลาดเพียง 2 สิ่งอาจจะไม่เพียงพอแล้ว จะต้องมีความฉลาดทางการเงินด้วย หรือ FQ ด้วย

วัยเกษียณ ก็ยังเป็นช่วงเวลาที่ต้องวางแผนทางการเงินเหมือนคนทุกวัย ห้ามประมาทหรือมองข้ามเด็ดขาด วัยเกษียณมันอาจจะยาวนานกว่าที่คิด และค่าใช้จ่ายต่างๆ ก็อาจจะสูงกว่าที่เราคิดเช่นกัน “พรสวรรค์” เราไม่สามารถกำหนดได้ แต่ “วินัย” เราสร้างมันขึ้นมาได้

#SCBSResearch

Comments

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *