>>> ตามรอยพ่อ…วิถีพึ่งตนเองที่แดนใต้

วิถีพึ่งตนเองที่แดนใต้

>>>สถานการณ์ไฟใต้ยังคงร้อนระอุ แต่หนึ่งในหยาดน้ำทิพย์ที่ชโลมหัวใจคนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็คือ สายพระเนตรอันยาวไกลและน้ำพระหฤทัยที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเผื่อแผ่มาถึงพสกนิกรของพระองค์ โดยไม่แบ่งแยกเชื้อชาติหรือศาสนา

>>ในวงล้อมของขุนเขา แม่น้ำ ท้องทุ่ง และดงกระสุนปืน ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ยังคงตั้งอยู่อย่างสงบบนถนนสายนราธิวาส-ตากใบ ภายในพื้นที่ 1,740 ไร่ ซึ่งอยู่ระหว่างบ้านพิกุลทอง และบ้านโคกสยา ตำบลกะลุวอเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส

>>ด้วยหลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงยึดมั่นหลักการพัฒนาใดๆ ว่า ต้องคำนึงถึงสภาพภูมิประเทศของบริเวณนั้นว่าเป็นอย่างไร และสังคมวิทยาเกี่ยวกับลักษณะนิสัยใจคอของผู้คน ตลอดจนวัฒนธรรมประเพณีในแต่ละท้องถิ่นที่มีความแตกต่างกัน ดังพระราชดำรัส ความตอนหนึ่งว่า

“การพัฒนาจะต้องเป็นไปตามภูมิประเทศทางภูมิศาสตร์ และภูมิประเทศทางสังคมศาสตร์ในสังคมวิทยา คือ นิสัยใจคอของคนเราเราจะไปบังคับให้คนอื่นคิดอย่างอื่นไม่ได้ เราต้องแนะนะ เราเข้าไปช่วยโดยที่จะคิดให้เขาเข้ากับเราไม่ได้ แต่ถ้าเราเข้าไปแล้ว เราเข้าไปดูว่าเขาต้องการอะไรจริงๆ แล้วก็อธิบายให้เขาเข้าใจ หลักการของการพัฒนานี้ก็จะเกิดประโยชน์อย่างยิ่ง”

>>>เช่นเดียวกับหลักการทำงานที่ศูนย์ฯ พิกุลทองแห่งนี้ ที่แต่เดิมประสบปัญหาความเดือนร้อนของราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากการใช้ประโยชน์ที่ดินทำกิน ซึ่งเป็นดินเปรี้ยวจัดเพาะปลูกพืชไม่ได้ผล ราษฎรส่วนใหญ่เป็นชาวไทยมุสลิม ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างหน่วยงานรัฐกับประชาชนในพื้นที่

>>>เป็นเวลากว่า 25 ปีแล้ว ที่ศูนย์ฯ พิกุลทอง อันเป็นศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริแห่งแรกถูกก่อตั้งขึ้น นับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์ เสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานไปประทับแรม ณ พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ จ.นราธิวาส เมื่อปี พ.ศ.2524

>>> ครานั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีพระราชดำริต่อองคมนตรี ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส และข้าราชการในท้องที่ที่เกี่ยวข้องว่า ด้วยพื้นที่จำนวนมากในจังหวัดนราธิวาสเป็นที่ลุ่มต่ำ มีน้ำขังตลอดปี และดินมีคุณภาพต่ำ ซึ่งมีจำนวนทั้งหมดกว่า 300,000 ไร่ เกษตรกรจำนวนมากไม่มีที่ทำกิน แม้เมื่อระบายน้ำออกจากพื้นที่หมดแล้ว ยังยากที่จะใช้ประโยชน์ทางการเกษตรให้ได้ผล ทั้งนี้เนื่องจากดินมีสารประกอบไพไรต์ทำให้เกิดกรดกำมะถัน เมื่อดินแห้งทำให้ดินเปรี้ยว ดังนั้น จึงเห็นสมควรที่จะมีการปรับปรุงพัฒนาดินให้ดีขึ้น

>>>และนั่นจึงนำมาสู่การดำเนินงานโครงการเพื่อพลิกฟื้นผืนดินครั้งใหญ่ กระทั่งทรงได้รับสมัญญานามว่า ‘จอมปราชญ์แห่งดิน’

>>>วิธีการแก้ไขดินเปรี้ยวตามแนวพระราชดำริเป็นวิธีการที่ตรงข้ามกับวิธีการทั่วไปที่ต้องการลดปัญหา แต่เป็นการสร้างหรือเพิ่มให้ปัญหามีความรุนแรงขึ้นด้วยกระบวนการที่ทรงเรียกว่า ‘แกล้งดิน’ ซึ่งเป็นกระบวนการเร่งปฏิกิริยาทางเคมีของดินที่มีแร่กำมะถันหรือมีสารประกอบไพไรต์

>>>โดยการทำให้ดินแห้งและเปียกสลับกัน เมื่อดินแห้งจะสัมผัสกับอากาศ ทำให้แร่กำมะถันกลายเป็นออกไซด์ของเหล็กและซัลเฟต เมื่อทำให้ดินเปียก ซัลเฟตจะผสมกับน้ำกลายเป็นกรดอีกครั้ง เมื่อดินถูกแกล้งสลับไปสลับมา จนกลายเป็นดินที่เปรี้ยวหรือเป็นกรดจัด จนพืชไม่สามารถขึ้นและเติบโตได้

>>> จึงให้หาทางแก้ไขความเป็นกรดจัดของดินโดยวิธีการต่างๆ ซึ่งทางศูนย์ฯ พิกุลทองได้สนองพระราชดำริจนได้วิธีที่เหมาะสมที่สุด ภายใต้หลักการ “ป่าพรุเสื่อมโทรม สะสมดินเปรี้ยว แกล้งดินอย่างเดียว พัฒนาได้ยั่งยืน”

>>>ปัจจุบันพื้นที่ภายในศูนย์ไม่เพียงสามารถเพาะปลูกข้าว และไม้ผล รวมทั้งโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มเพื่อผลิตไบโอดีเซล แต่การดำเนินงานของศูนย์ศึกษาการพัฒนาแห่งนี้ยังได้ขยายผลสู่เกษตรกรหลายพื้นที่ด้วยกัน อาทิ หมู่บ้านโคกอิฐ-โคกใน อำเภอตากใบ ซึ่งชาวบ้านในพื้นที่ได้มีการทำเกษตรผสมผสาน และมีโรงผลิตข้าวซ้อมมือ ซึ่งสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรอย่างดียิ่ง

ขอขอบคุณบทความดีๆๆ

http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9490000149732


Posted

in

by

Tags:

Comments

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *