+++ ลาออก เลิกจ้าง ว่างงาน อย่าลืมประกันสังคม

วันนี้เราจะมาแชร์ ขั้นตอน กระบวนการ ขึ้นทะเบียนผู้ว่างงาน และการขอรับเงินทดแทนการขาดรายได้ ซึ่งเป็นหนึ่งในสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตน กับกองทุนประกันสังคม จากประสบการณ์หลังออกจากงาน อาจจะดูวุ่นวายหน่อย แต่ไหนๆจ่ายเงินเข้ากองทุนมาตลอด มาลองดูสิทธิประโยชน์บ้าง

   ต้องทราบก่อนว่ากองทุนประกันสังคม ที่เราจ่ายเงินไป 5% นายจ้างสมทบ 5% รัฐบาลสมทบ 2.75% ในทุกๆเดือน กองทุนนำไปบริหารอย่างไรบ้าง

กองทุนประกันสังคม จะถูกแบ่งเป็นสิทธิประโยชน์ 3 ส่วน

  • เจ็บป่วย ทุพพลภาพ ตาย และคลอดบุตร
  • สงเคราะห์บุตร และชราภาพ
  • ว่างงาน*

   การจะขอรับประโยชน์ทดแทนการขาดรายได้จากประกันสังคมตามข้อสามได้นั้น คุณต้องจ่ายเงินกับประกันสังคมมาครบ 6 เดือน ในระยะเวลา 15 เดือน (ไม่ต้องติดต่อกันก็ได้) เป็นผู้ว่างงานที่ไม่มีความผิดตามกฎหมาย (เช่นโดนไล่ออกจากการขาดงานนานเกิน 7 วัน ละทิ้งหน้าที่ปฏิบัติงาน เหล่านี้จะไม่สามารถขอสิทธิประโยชน์นี้ได้)

   ว่างงานตั้งแต่ 8 วันขึ้นไป (ภายใน 7 วันแรก จะไม่ได้รับเงิน เช่นว่างงานระหว่างเริ่มงานใหม่ 15 วัน จะได้รับเงินชดเชยแค่ 8 วัน) และต้องขึ้นทะเบียนผู้ว่างงานกับสำนักงานจัดหางานภายใน 30 วัน จากวันที่ออกจากงาน (ถ้ายื่นเรื่องหลังจากนั้นประโยชน์ทดแทนจะลดลง) หลังจากนั้นสามารถนำเอกสารทั้งหมดไปขอรับเงินประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานได้ที่สำนักงานประกันสังคม

  • จ่ายประกันสังคม 6 เดือน ในเวลา 15 เดือน
  • ไม่ถูกเลิกจ้างจากการทำความผิดตามกฎหมาย
  • ว่างงานตั้งแต่ 8 วันขึ้นไป
  • ขึ้นทะเบียนผู้ว่างงานภายใน 30 วัน
  • เตรียมเอกสารทั้งหมด ไปยื่นที่สำนักงานประกันสังคม
  • รายงานตัวเดือนละหนึ่งครั้ง ห้ามลืม!!
  • เงินจะโอนเข้าบัญชีภายใน 7 – 10 วัน

การขึ้นทะเบียนเป็นผู้ว่างงาน

  เราสามารถขึ้นทะเบียนและรายงานตัวผู้ประกันตนกรณีว่างงานผ่านอินเตอร์เน็ตได้แล้ว ไม่ต้องเดินทางไปที่สำนักงานจัดหางานแต่อย่างใด สะดวกมากๆ โดยเข้าไปที่เว็บไซต์ของกรมการจัดหางาน https://empui.doe.go.th ภายในจะมีรายละเอียดและขั้นตอนการใช้งานระบบขึ้นทะเบียนทั้งหมด หลังจากขึ้นทะเบียนในระบบเรียบร้อยแล้ว อย่าลืมปริ้นหนังสือรับรองการขึ้นทะเบียน และแบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน (สปส.2–01/7) เพื่อนำไปยื่นที่ประกันสังคมต่อไป

การเตรียมเอกสารสำหรับยื่นเรื่องกับสำนักงานประกันสังคม

  • 1. แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน (สปส.2–01/7) พิมพ์จากเว็บไซต์กรอกไปให้เรียบร้อย
  • 2. หนังสือรับรองการขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนกรณีว่างงาน (พิมพ์จากเว็บไซต์)
  • 3. บัตรประชาชนหรือบัตรอื่นที่มีรูปถ่าย ซึ่งทางราชการออกให้พร้อมสำเนา
  • 4. สำเนาสมุดบัญชีเงินฝากธนาคาร(ประเภทออมทรัพย์) สำหรับรับเงิน
  • 5. สำเนาหนังสือแจ้งการสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน (สปส.6 –09) (ถ้ามี)
  • 6. หนังสือหรือคำสั่งของนายจ้างที่ให้ออกจากงาน (ถ้ามี)
  • ข้อ 5. แล้ว ข้อ 6. เราก็ไม่มีเหมือนกัน

ยื่นเอกสารที่ไหน

    กรุงเทพฯ ยื่นได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ ที่ไหนก็ได้ มี 12 แห่ง
ภูมิภาค ยื่นได้ที่สำนักงานประกันสังคมจังหวัดและสำนักงานประกันสังคมจังหวัดสาขา

การรายงานตัว

   หลังจากยื่นเอกสารเรียบร้อย เราจะต้องรายงานตัวการว่างงานเดือนละ 1 ครั้ง ภายในเว็บไซต์จะแจ้งวันที่นัดรายงานตัวแต่ละเดือน โดยเข้าไปที่เว็บไซต์เดิม กดเข้าไปในหัวข้อรายงานตัว สามารถรายงานตัวล่วงหน้าและล่าช้าได้ 7 วัน (+7 วัน ,- 7วัน)

ได้เงินเมื่อไหร่และเท่าไหร่

   หลังการรายงานตัว สำนักงานประกันสังคม จะโอนเงินเข้าบัญชีของเราภายใน 7 – 10 วัน โดยการจ่ายเงินเริ่มนับจาก 7 วัน หลังจากออกจากงาน เช่น คือเราออกจากงานวันที่ 31เมษายน จะได้เงินของวันที่ 8 พ.ค. – 14 มิ.ย. จำนวน 38 วัน ประมาณ วันละ 150 บาท

ประโยชน์ทดแทนการขาดรายได้ จะแบ่งเป็นสองกรณี

  • กรณีลาออกจากงาน จะได้รับเงิน 30% ของรายได้(เงินเดือนสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท) เช่นเงินเดือน 25,000 บาท จะได้รับเงินทดแทน 4,500 บาทต่อเดือน คือ 30% จาก 15,000 บาท ระยะเวลาไม่เกิน 90 วัน
  • กรณีถูกเลิกจ้าง จะได้รับเงิน 50% ของรายได้(เงินเดือนสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท) ระยะเวลาไม่เกิน 180 วัน
    **ภายใน 7 วันแรกของการว่างงานจะไม่ได้รับเงินชดเชย 

เมื่อไหร่ต้องส่งเงินประกันสังคมต่อ (มาตรา 39)

   หลังจากออกจากงาน หากคุณยังไม่ได้เริ่มงานใหม่ หรือ เปลี่ยนสายไปทำอาชีพอิสระ หากต้องการยื่นเป็นผู้ประกันตนโดยสมัครใจมาตรา 39 และเคยเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 นำส่งเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือน ต้องยื่นคำขอเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 ภายใน 6 เดือน โดยนับจากวันที่ออกจากงาน (เช่น เราลาออกเมื่อวันที่ 30 เมษายน และยังไม่มีงานใหม่ ต้องทำการยื่นคำขอเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 ภายใน 6 เดือน หรือก่อนวันที่ 31 ตุลาคม)

เอกสารการขึ้นทะเบียนที่สำนักงานประกันสังคม มาตรา 39

  • 1. แบบขอเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 (สปส.1–20)
  • 2. บัตรประชาชนหรือบัตรอื่นที่มีรูปถ่าย ซึ่งทางราชการออกให้พร้อมสำเนา
  • 3. สำเนาสมุดบัญชีเงินฝากธนาคาร(ประเภทออมทรัพย์) เพื่อหักเงินจากบัญชีเดือนละ 432 บาท (หรือจะจ่ายด้วยเงินสดที่สำนักงานประกันสังคม ธนาคาร ไปรษณีย์ก็ได้)
    (ถ้าเป็นธนาคารไทยพานิชย์และธนาคารกรุงเทพ ต้องขอรับหนังสือยินยอมให้หักเงินจากบัญชีเงินฝากจากธนาคาร)
  • มีปัญหาสอบถาม ศูนย์บริการข้อมูลประกันสังคม 1506 ตลอด 24 ชั่วโมง

เราเคยโทรไปมาแล้ว เจ้าหน้าที่บริการดีมาก แต่อาจต้องรอหน่อย

ถ้ามีข้อผิดพลาด ข้อมูลไม่อัพเดทตรงไหนคอทเม้นต์คุยกันได้นะคะ หวังว่าเรื่องนี้คงจะเป็นประโยชน์สำหรับทุกคน เพราะตอนเรายื่นเรื่องก็งงมากเหมือนกันเลยเอามาแชร์ให้ฟังกัน

บทความต้นฉบับ

Comments

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *