กางรายละเอียด สิทธิผู้พิการรักษาพยาบาลที่ไหนได้ มีสิทธิประโยชน์และเงื่อนไขอย่างไรบ้าง มาเช็กเลย
เรื่องสิทธิรักษาพยาบาลและสวัสดิการด้านสุขภาพ เป็นสิ่งที่สำคัญกับทุกคนอยู่แล้ว โดยเฉพาะผู้พิการ ที่จำเป็นมากในการใช้สิทธิรักษาพยาบาลต่าง ๆ ดังนั้น จึงได้สรุปรายละเอียดและเงื่อนไขของสิทธิรักษาพยาบาลผู้พิการให้ทราบกัน
ทั้งนี้ ปัจจุบันสิทธิรักษาพยาบาลผู้พิการ มีอยู่ด้วยกัน 2 อย่าง นั่นคือ “สิทธิหลักประกันสุขภาพ” และ “สิทธิประกันสังคม” ซึ่งสามารถเลือกใช้สิทธิได้เพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง โดยมีรายละเอียด ดังนี้
- 1 สิทธิหลักประกันสุขภาพ ผู้พิการ
สิทธิหลักประกันสุขภาพ หรือที่รู้จักในชื่อ “บัตรทอง” โดยผู้พิการสามารถเข้ารับบริการรักษาพยาบาลได้ที่โรงพยาบาลรัฐทุกแห่ง และโรงพยาบาลเอกชนที่ขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพฯ ได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ โดยไม่ต้องมีใบส่งต่อ
สิทธิประโยชน์บัตรทองผู้พิการ มีอะไรบ้าง
โดยหลัก ๆ แล้ว บัตรทองจะให้สิทธิรักษาพยาบาลครอบคลุมทั้งโรคทั่วไปและโรคเฉพาะทาง ในการตรวจ วินิจฉัย ป้องกัน ควบคุมโรค ค่ายา/เวชภัณฑ์ตามกรอบบัญชียาหลักแห่งชาติ ค่าอาหาร และค่าห้องพยาบาลด้วย ตลอดจนถึงให้สิทธิคุมกำเนิด ฝากครรภ์ คลอดบุตร บริการทันตกรรม และบริการแพทย์แผนไทย
นอกจากนี้ เฉพาะผู้พิการจะได้สิทธิประโยชน์เพิ่มเข้ามา คือ บริการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้พิการ เช่น กายภาพบำบัด, กิจกรรมบำบัด, การประเมิน/แก้ไขการพูด, จิตบำบัด, พฤติกรรมบำบัด, ฟื้นฟูการได้ยิน, ฟื้นฟูการเห็น, ได้รับอุปกรณ์เครื่องช่วยตามประเภทความพิการ
การพัฒนาศักยภาพในรูปแบบอื่น ๆ รวมทั้งการอบรมญาติหรือผู้ดูแลในการดูแลคนพิการ อีกอย่างคือ คนที่มีบัตรผู้พิการจะยังได้รับเงินช่วยเหลือเบี้ยคนพิการเดือนละ 800 บาทด้วย
ทั้งนี้ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กำหนดประเภทความพิการที่จะได้รับสิทธิผู้พิการ ไว้ 6 ประเภท ดังนี้
- 1. ความพิการทางการเห็น
- 2. ความพิการทางการได้ยินหรือสื่อความหมาย
- 3. ความพิการทางการเคลื่อนไหวหรือทางร่างกาย
- 4. ความพิการทางจิตใจหรือพฤติกรรมหรือออทิสติก
- 5. ความพิการทางสติปัญญา
- 6. ความพิการทางการเรียนรู้
ใช้สิทธิบัตรทองผู้พิการ ต้องทำอย่างไร
ผู้ที่มีสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพ ต้องเป็นบุคคลที่มีสัญชาติไทย และไม่มีสวัสดิการด้านการรักษาพยาบาลอื่น ๆ ที่รัฐจัดให้ เช่น ประกันสังคม หรือสิทธิรักษาพยาบาลราชการ ลูกจ้างรัฐ รัฐวิสาหกิจ เป็นต้น
สำหรับการลงทะเบียนรับสิทธิบัตรทองนั้น ให้เตรียมสำเนาบัตรประชาชน หรือบัตรประจำตัวที่มีรูปถ่ายซึ่งทางราชการออกให้ (เด็กอายุต่ำกว่า15ปี ใช้สำเนาใบสูติบัตร), สำเนาทะเบียนบ้าน และบัตรประจำตัวผู้พิการ หรือเอกสารรับรองจากแพทย์ มาติดต่อลงทะเบียน พร้อมระบุรับสิทธิ ท.74 สำหรับผู้พิการ ได้ที่
– พื้นที่ต่างจังหวัด : สถานีอนามัย หรือโรงพยาบาลของรัฐใกล้บ้าน
– กรุงเทพมหานคร : สำนักงานเขตทุกแห่ง
ส่วนผู้พิการที่มีบัตรทองอยู่แล้ว แต่ยังไม่ได้ระบุสิทธิ ท.74 ให้เข้ารับการตรวจประเมินความพิการ ณ หน่วยบริการของรัฐ เพื่อออกเอกสารรับรองความพิการ และนำมาลงทะเบียนเพิ่มสิทธิสำหรับผู้พิการเพื่อรับสิทธิได้เลย
- 2. สิทธิประกันสังคมผู้พิการ
นอกจากสิทธิบัตรทองแล้ว ผู้พิการยังสามารถเลือกรับสิทธิรักษาพยาบาลของประกันสังคมได้ แต่ย้ำว่าเลือกได้แค่อย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น และเปลี่ยนได้ปีละ 1 ครั้ง คือ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 31 มีนาคม ของทุกปี
ยกเว้นกรณีมีความจำเป็น เช่น ย้ายที่พักอาศัย หรือย้ายสถานที่ประจำทำงาน จำเป็นต้องเปลี่ยนสถานพยาบาลที่ขอใช้สิทธิด้วย จึงจะขอเปลี่ยนสถานพยาบาลระหว่างปีได้ โดยให้แจ้งเปลี่ยนสถานพยาบาลภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ย้ายที่พักอาศัย หรือย้ายสถานที่ประจำทำงาน
สิทธิประโยชน์ประกันสังคมผู้พิการ มีอะไรบ้าง
ผู้พิการที่เป็นผู้ประกันตนจะได้รับสิทธิเหมือนกับผู้ประกันตนทั่วไปเลย ทั้ง 7 กรณี ได้แก่
- 1. เจ็บป่วย ได้รับสิทธิรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลที่เลือก โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
- 2. คลอดบุตร มีสิทธิเบิกค่าคลอดบุตรครั้งละ 13,000 บาท ได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง และเงินสงเคราะห์การหยุดงานสำหรับผู้ประกันตนหญิง
- 3. สงเคราะห์บุตร มีสิทธิเบิกค่าสงเคราะห์บุตรได้คราวละไม่เกิน 3 คน เดือนละ 600 บาทต่อคน ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 6 ปี
- 4. ว่างงาน มีสิทธิได้รับเงินว่างงาน ถ้าไม่ได้ออกจากงานเพราะทำผิดกฎหมาย หรือทำให้บริษัทได้รับความเสียหาย
- 5. ชราภาพ สำหรับเป็นเงินออมชราภาพ ที่ผู้ประกันตนจะได้รับเมื่อยามเกษียณ
- 6. ทุพพลภาพ ผู้ประกันตนที่จ่ายเงินสมทบครบ 3 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือน ก่อนทุพพลภาพ จะมีสิทธิได้เงินทดแทนการขาดรายได้
- 7. เสียชีวิต กรณีที่ผู้ประกันตนเสียชีวิต จะได้รับเงินค่าทำศพ 40,000 บาท รวมถึงเงินสงเคราะห์กรณีตาย
ใช้สิทธิประกันสังคมผู้พิการ ต้องทำอย่างไร
สำหรับผู้พิการที่เป็นผู้ประกันตน หากต้องการใช้สิทธิประกันสังคม สามารถแจ้งความประสงค์ พร้อมยื่นเแบบเลือกสถานพยาบาล เพื่อรับบริการทางการแพทย์ (สปส. 9-02) ได้ที่ สำนักงานประกันสังคมทุกแห่งทั่วประเทศ หรือยื่นทางออนไลน์ ได้ผ่านเว็บไซต์ประกันสังคม www.sso.go.th
อย่างไรก็ตาม ผู้พิการที่ยังคงสามารถทำงานได้ จะต้องจ่ายเงินสมทบประกันสังคมเองในอัตรา 5% ของค่าจ้าง แต่หากกรณีที่เป็นผู้ทุพพลภาพในระดับที่ไม่สามารถทำงานได้ ถึงจะได้รับการยกเว้นจ่ายเงินสมทบ
บัตรทองกับประกันสังคม เลือกสิทธิไหนดีกว่ากัน
สิทธิประโยชน์ผู้พิการของบัตรทองและประกันสังคมนั้น มีข้อดี-ข้อเสียที่ต่างกัน โดยทั้ง 2 สิทธิมีข้อแตกต่างกัน ดังนี้
-โรงพยาบาลที่ให้บริการ
ประกันสังคมดีตรงที่สามารถเลือกสิทธิรักษาได้ทั้งโรงพยาบาลรัฐและเอกชน ส่วนบัตรทองจะได้เพียงโรงพยาบาลรัฐเท่านั้น แต่ก็ดีตรงที่ได้กับโรงพยาบาลรัฐทุกแห่งทั่วประเทศ
จึงขอแนะนำว่าถ้าโรงพยาบาลที่เราเข้ารักษาเป็นโรงพยาบาลรัฐอยู่แล้ว การเลือกบัตรทองก็ดูจะเหมาะสมกว่า แต่หากใครพอใจจะเข้ารักษาในโรงพยาบาลเอกชนใกล้บ้าน ก็อาจจะเลือกสิทธิประกันสังคมแทน
-การรักษาโรคเฉพาะ
จุดนี้ประกันสังคมมีข้อด้อยตรงที่ไม่ครอบคลุมการรักษาโรคเฉพาะบางโรค เช่น มะเร็งบางชนิด ต่างจากบัตรทองที่ให้การรักษาครอบคลุมทั้งหมด
-ทันตกรรม
ประกันสังคมให้สิทธิด้านทันตกรรมปีละไม่เกิน 900 บาท แต่สามารถเข้ารับบริการได้ทั้งโรงพยาบาลรัฐ เอกชน และคลินิกที่ร่วมโครงการ ส่วนบัตรทองสามารถใช้บริการได้ไม่จำกัดวงเงินและจำนวนครั้ง แต่ก็ต้องแลกด้วยการเข้ารับบริการได้เฉพาะโรงพยาบาลรัฐเท่านั้น
-ยาและเวชภัณฑ์
ประกันสังคมสามารถใช้ยาได้ทั้งในและนอกบัญชีหลักแห่งชาติ แต่บัตรทองได้เฉพาะยาที่อยู่ในบัญชีหลักแห่งชาติเท่านั้น หากต้องการใช้ยานอกบัญชี ผู้ป่วยต้องยอมจ่ายเงินเอง หรือขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์
-ค่าห้องและค่าอาหาร
ประกันสังคมให้สิทธิค่าห้องและค่าอาหารไม่เกินวันละ 700 บาท โดยเลือกได้ว่าจะนอนห้องรวมหรือห้องพิเศษ แต่ต้องจ่ายส่วนต่างที่เกินเอง ขณะที่บัตรทองจะดูแลค่าห้องและค่าอาหารของห้องรวมให้ทั้งหมด แต่หากต้องการนอนห้องพิเศษจะต้องจ่ายเองทั้งหมด
-สิทธิประโยชน์ด้านอื่น ๆ
แน่นอนว่าประกันสังคมให้สิทธิประโยชน์ด้านอื่น ๆ นอกเหนือจากการรักษาพยาบาลด้วย อย่างเช่น เงินสงเคราะห์บุตร เงินช่วยเหลือยามว่างงาน เงินบำเหน็จ-บำนาญชราภาพ และเงินสงเคราะห์กรณีเสียชีวิต เป็นต้น ซึ่งบัตรทองยังไม่มีในส่วนนี้
สุดท้ายคงตอบได้ยากว่าสิทธิประโยชน์อะไรดีกว่ากัน โดยแนะนำให้ลองนำข้อดี-ข้อเสีย มาพิจารณาชั่งใจกันดู ว่าเราเหมาะและสะดวกกันสิทธิไหนมากกว่ากัน ซึ่งแต่ละคนคงมีคำตอบที่แตกต่างกันไป
ทั้งหมดนี้ก็เป็นเงื่อนไขคร่าว ๆ ของสิทธิรักษาพยาบาลผู้พิการที่เรารวบรวมมาฝากกัน แต่สำหรับใครที่ต้องการทราบรายละเอียดอื่น ๆ เพิ่มเติม สามารถสอบถามได้ที่ สปสช. โทร. 1330 และสำนักงานประกันสังคม โทร. 1506
ใส่ความเห็น