fbpx

+++ เปลี่ยน ‘หนี้บัตรเครดิต’…เป็นเงินเก็บ ปั้น “เงินล้าน”

“ชีวิตหนี้”…ส่วนหนึ่งก็มาจากพฤติกรรมในการใช้จ่ายของตัวเราเองด้วยส่วนหนึ่ง ยิ่งสังคมรูดปรื๊ดๆ กับสารพัดบัตร ‘รูดก่อน…ผ่อนทีหลัง’ ก็ยิ่งปูทางตัวเองเข้าสู่ ‘กับดักหนี้’ ได้ง่ายดายยิ่งขึ้น

จะดีกว่ามั้ย? ถ้าเราจะเปลี่ยน ‘หนี้บัตรเครดิต’…เป็นเงินเก็บ เพื่อปั้น “เงินล้าน” ให้กับตัวเองกัน

‘บัตรเครดิต’…ไม่ได้ทำให้เงินในกระเป๋าคุณเพิ่มขึ้น

คนจะมี ‘บัตรเครดิต’ ได้ ก็ต้องมีรายได้ตั้งแต่ 15,000 บาทต่อเดือน ขึ้นไป โดย ‘วงเงินบัตรเครดิต’ ก็ขึ้นกับรายได้เฉลี่ยต่อเดือนของคุณเอง

1.5 เท่า ถ้ารายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อเดือน
3 เท่า ถ้ารายได้ตั้งแต่ 30,000 บาท แต่ต่ำกว่า 50,000 บาทต่อเดือน
5 เท่า ถ้ารายได้ตั้งแต่ 50,000 บาทต่อเดือน

‘บัตรเครดิต’ ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับคุณในการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น เช่น ไม่ต้องจ่ายด้วยเงินสด ผ่อนชำระได้ เป็นต้น

“แต่คุณต้องไม่ลืมว่า การมีบัตรเครดิตไม่ได้ทำให้เงินในกระเป๋าเพิ่มมากขึ้นแต่ประการใด ไม่ใช่เงินเดือน 15,000 บาท ได้วงเงินบัตรเครดิต 22,500 บาท แล้วจะทำให้คุณมีรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 37,500 บาท!!! ไม่ใช่แบบนั้นนะ บางคนมีบัตร 2 ใบ โอ้ว…คิดว่ารายได้ขยับไปอยู่ที่ 60,000 บาท!!! แสดงว่า…คุณมาผิดทางแล้วล่ะ เพราะรายได้คุณจริงๆ ยังคง 15,000 บาทต่อเดือน ‘เหมือนเดิม’ ไม่ได้เพิ่มขึ้นตามวงเงินในบัตรเครดิตแต่ประการใด”

ใช้จ่ายอย่าง ‘พอเพียง’…ไม่ก่อหนี้เกิน 30% ของรายได้

เมื่อมีรายได้เท่าเดิม 15,000 บาทต่อเดือน ปกติถ้าคุณไม่มีบัตรเครดิต คุณก็จะต้องใช้เงินอยู่ในวงเงินรายได้ของตัวเองอยู่แล้ว และเมื่อ ‘บัตรเครดิต’ ไม่ได้ทำให้คุณมีรายได้เพิ่มขึ้น แล้วคุณไปใช้จ่ายเกินรายได้ตัวเอง ‘วงจรหนี้’ ก็จะวิ่งตามคุณเหมือนเงาตามตัวทันที ‘มาก’ หรือ ‘น้อย’ ขึ้นกับพฤติกรรมการใช้จ่ายของตัวคุณเองเป็นสำคัญ

“ตามทฤษฎีทางการเงินก็มีการพูดถึงสัดส่วนการก่อหนี้ว่าไม่ควรเกิน 40% ของรายได้ แต่คุณคงไม่ต้องใช้สิทธิ์เต็มที่แต่ประการใด บางตำราก็ว่าไว้ที่เหมาะสม คือ 20% ของรายได้ บางตำราก็ว่าไว้อย่างให้เกิน 1 ใน 3 หรือประมาณ 30% ในที่นี้ก็ยกเอาสัดส่วนหนี้ 30% มาเป็นไกด์ไลน์ไว้ล่ะกัน ต้องดูภาระหนี้โดยภาพรวมของตัวคุณเองทั้งหมดนะ (หนี้บ้าน หนี้รถ หนี้บัตรเครดิต เป็นต้น)”

‘การไม่มีหนี้…เป็นลาภอันประเสริฐ’ หากใช้บัตรเครดิตเพื่ออำนวยความสะดวก คุณก็ยังคงต้องวางแผนใช้เงินให้อยู่ในงบประมาณรายได้ของตัวเอง 15,000 บาทต่อเดือนตามปกติ (ก็รายได้คุณไม่ได้เพิ่มขึ้นนี่นา)

รูดก่อน…ถึงเวลาก็ชำระเต็มจำนวน ตรงเวลา คุณก็ไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมแต่ประการใด ไม่ใช่มีรายได้ 15,000 บาท แล้วใช้จ่าย 20,000 บาท เงินเดือนออก ก็หมดตัวแถมยังมีสมการรายได้ติดลบอีก ‘เงินออม’ ไม่ต้องพูดถึง ต่อให้คุณชำระตรงตามเวลาและเต็มจำนวนก็ตาม เพราะเอา ‘เงินอนาคต’ มา ‘ใช้ในปัจจุบัน’ ก่อน

“ลองนึกว่า…แนวคิดแบบนี้ถ้าวันหนึ่งคุณรายได้เป็น 0 คุณยังมีภาระต้องจ่ายหนี้ค้างจ่ายอีก 1 เดือนนะ แล้วจะหาจากไหนมาจ่ายถ้าไม่มีเงินเก็บไว้ ท่องให้ขึ้นใจ…บัตรเครดิตไม่ได้ทำให้คุณมีรายได้เพิ่มขึ้น ใช้จ่ายให้ ‘พอเพียง’ และก่อหนี้ไม่เกิน 30% แบบนี้พลาดพลั้งรายได้เป็น 0 วันใด คุณก็มีภาระหนี้ไม่เกิน 30% ที่ค้างชำระ ก็ยังน่าจะพอหาทางจัดการได้ไม่ยาก”

กัน 10% ‘จ่ายให้ตัวเองก่อน’…ลงทุนเพื่อปั้น “เงินล้าน”

แทนที่คุณจะรูดบัตรเพลิน…ถึงเวลาเงินเดือนออก ก็ต้องเอาจ่ายหนี้บัตรเครดิตหมด ทำไม…ไม่เปลี่ยนพฤติกรรมมา ‘จ่ายให้ตัวเองก่อน’ เพื่อสร้างความมั่งคั่งให้กับตัวเองล่ะ ขอไม่มาก…แค่เท่ากับยอดชำระขั้นต่ำของบัตรเครดิตที่ 10% ก็พอ เชื่อว่าทุกคนที่มีบัตรเครดิตมีศักยภาพที่จะทำได้ทุกคน

เป้าหมาย : สร้างเงิน 1 ล้านบาท ด้วยการผ่อนชำระเงินขั้นต่ำ 10% ต่อเดือน เป็นเงิน 1,500 บาท ให้กับ ‘ตัวเอง’ (แทนที่จะไปจ่ายเป็นหนี้บัตรเครดิต)

บนทางเลือกการลงทุนต่างๆ ที่ให้ผลตอบแทนแตกต่างกันออกไป ซึ่งเป็นตัวเลขผลตอบแทนเฉลี่ยที่มีอยู่จริงในโลกการลงทุนของ ‘กองทุนรวม’ ซึ่งจะทำให้คุณบรรลุเป้าหมายเงิน 1 ล้านบาท ในระยะเวลาที่แตกต่างกันออกไป ดังนี้

2% >>> ใช้เวลา 37 ปี 5 เดือน
5% >>> ใช้เวลา 26 ปี 8 เดือน
8% >>> ใช้เวลา 21 ปี 4 เดือน
10%>>>ใช้เวลา 18 ปี 11 เดือน
15%>>>ใช้เวลา 15 ปี

ถ้าคุณเริ่มต้นได้เร็วและเลือกเก็บเงินให้ถูกที่ถูกทาง เอาแค่ผลตอบแทนเฉลี่ย 10% ต่อปี ด้วยเงินเก็บ 1,500 บาท ทุกเดือน ไม่ถึง 20 ปี คุณก็มี ‘เงินล้าน’ แล้ว แต่ถ้าไม่เริ่มต้น ยังรูดปรื๊ดๆ ในวังวงเดิมๆ คุณก็จะเจอกับปัญหาหนี้บัตรเครดิตเดิมๆ ไปอีก 20 ปี เช่นกัน

“แทนที่คุณจะก่อหนี้ 30% คุณก็หักเงินเก็บขั้นต่ำ 10% เหลือก่อหนี้ 20% ยังต้องตามตำรา แถมยังมีเงินเก็บบนเส้นทาง ‘เงินล้าน’ ที่คุณสร้างด้วยมือตัวเองได้อีกด้วยนะ”

เห็นมั้ยว่า…เปลี่ยน “หนี้บัตรเครดิต” มาเป็นเงินเก็บ เพื่อปั้น ‘เงินล้าน’ นั้นไม่ได้ยากอย่างที่คิด คุณเองก็ทำได้ หวังว่าข้อมูลเหล่านี้จะเป็นประโยชน์กับผู้ที่สนใจอยู่บ้างไม่มากก็น้อย

#สรวิศ อิ่มบำรุง

บทความต้นฉบับ

Comments

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *