fbpx

>> ตามรอยพ่อ….”พ่อ” สอนอะไรเราบ้าง

 60 ปีที่ผ่านมา…’พ่อ’ สอนอะไรเราบ้าง ?
>>>ในช่วงระยะ 10 ปีแรกของการครองราชย์นั้น พระองค์ทรงเน้นงานด้านการสงเคราะห์และงานด้านสาธารณสุข ด้วยทรงเห็นว่าเป็นเรื่องเร่งด่วน เหมือนดังกรณีคนป่วยก็ต้องให้ยาระงับไข้แก้ปวดก่อน แล้วจึงรักษาอาการอื่นๆ หรือหาทางป้องกันโรคนั้นๆ ต่อไป

>>>ในระยะต่อมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชดำริเพื่อแก้ปัญหาในเชิงโครงสร้าง ทรงเป็นกษัตริย์นักพัฒนา ทรงงานหนักเพื่อพสกนิกรอย่างมิรู้จักเหน็ดเหนื่อย คุณค่าในแนวพระราชดำริหรือหลักการโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง อาทิ หลักการธรรมชาติ หลักที่ง่ายต่อการเข้าใจ และหลักการความยั่งยืน พออยู่พอกิน

>>>80 พระชนมพรรษา ‘พ่อ’ ของแผ่นดิน อาจกล่าวได้ว่า ผืนแผ่นดินไทยแทบไม่มีท้องถิ่นใดที่พระองค์ไม่เคยเสด็จฯ ทรงไปเหยียบย่ำ ตั้งแต่เหนือจดใต้ แม้แต่มิตรประเทศเพื่อนบ้านก็ยังได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ หลักการเศรษฐกิจพอเพียงกลายเป็นหลักชัยให้ลูกของแผ่นดินยึดถือปฏิบัติเพื่อตามรอยที่พ่อของแผ่นดินได้บุกเบิกแผ้วถาง

ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

>>นอกจากจะเป็นกษัตริย์ที่ทรงงานหนักที่สุดในโลกแล้ว นับได้ว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงเล็งเห็นการณ์ไกลมากที่สุดพระองค์หนึ่งในโลก

>>พระองค์ได้พระราชทานพระราชดำรัสในวาระและโอกาสต่างๆ อยู่เสมอเกี่ยวกับแนวคิดและหลักการเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อน้อมนำให้บุคคลทุกระดับได้ตระหนักถึงแนวทางสำคัญในการดำรงชีพ ซึ่งค่อนข้างจะแตกต่างจากแนวคิดของนักวิชาการและนักเศรษฐศาสตร์ในช่วงนั้น

“การพัฒนาประเทศจำเป็นต้องทำตามลำดับขั้น ต้องสร้างพื้นฐาน คือความพอมีพอกิน พอใช้ของประชาชนส่วนใหญ่เป็นเบื้องต้นก่อน โดยใช้วิธีการและใช้อุปกรณ์ที่ประหยัด แต่ถูกต้องตามหลักวิชา เมื่อได้พื้นฐานมั่นคงพร้อมพอควรและปฏิบัติได้แล้ว จึงค่อยสร้างค่อยเสริมความเจริญและฐานะทางเศรษฐกิจขั้นที่สูงขึ้นโดยลำดับต่อไป หากมุ่งแต่จะทุ่มเทสร้างความเจริญ ยกเศรษฐกิจขึ้นให้รวดเร็วแต่ประการเดียว โดยไม่ให้แผนปฏิบัติการสัมพันธ์กับสภาวะของประเทศและของประชาชนโดยสอดคล้องด้วย ก็จะเกิดความไม่สมดุลในเรื่องต่างๆ ขึ้น ซึ่งอาจกลายเป็นความยุ่งยากล้มเหลวได้ในที่สุด ดังเห็นได้ที่อารยประเทศหลายประเทศกำลังประสบปัญหาทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงอยู่ในเวลานี้”

“คนอื่นจะว่าอย่างไรก็ช่างเขา จะว่าเมืองไทยล้าสมัย จะว่าเมืองไทยเชย ว่าเมืองไทยไม่มีสิ่งที่ทันสมัย แต่เราอยู่พอมีพอกินและขอให้ทุกคนมีความปรารถนาที่จะให้เมืองไทยพออยู่พอกิน… ไม่ใช่ว่ารุ่งเรืองอย่างยอด แต่ว่ามีความพออยู่พอกิน มีความสงบ เปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ถ้าเรารักษาความพออยู่พอกินนี้ได้ เราก็จะยอดยิ่งยวดได้”

>>นั่นคือพระราชดำรัสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเตือนภัยพสกนิกรของพระองค์ล่วงหน้า ตั้งแต่ปี พ.ศ.2517 ก่อนที่ประเทศไทยจะประสบวิกฤตทางเศรษฐกิจครั้งยิ่งใหญ่ในอีก 23 ปีต่อมา ซึ่งพระองค์ก็ทรงใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทางแก้ไขให้รอดพ้นและสามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ ดังพระราชกระแสรับสั่งในปี พ.ศ.2540-2541 ว่า

“การจะเป็นเสือนั้นไม่สำคัญ สำคัญอยู่ที่เรามีเศรษฐกิจแบบพอมีพอกิน แบบพอมีพอกินนั้น หมายความว่าอุ้มชูตัวเองได้ ให้มีพอเพียงกับตัวเอง…”

“คำว่าพอเพียงนี้ มีความหมายว่า มีกินมีอยู่ ไม่ฟุ่มเฟือย ไม่หรูหราก็ได้ แต่ว่าพอ แม้บางอย่างอาจจะดูฟุ่มเฟือย แต่ถ้าทำให้มีความสุข ถ้าทำได้ก็สมควรที่จะทำ สมควรที่จะปฏิบัติ แต่ว่าต้องไม่ไปเบียดเบียนคนอื่น…”

“คำว่าเศรษฐกิจพอเพียงนี้ไม่มีในตำรา…เศรษฐกิจแบบพอมีพอกินนั้นหมายความว่า อุ้มชูตัวเองได้ ให้มีพอเพียงกับตัวเอง เราก็อยู่ได้ ไม่ต้องเดือดร้อน แต่ไม่ได้หมายความว่า ทุกครอบครัวต้องผลิตอาหารของตัว จะต้องทอผ้าใส่เอง อย่างนั้นมันก็เกินไป แต่ว่าในหมู่บ้านหรือในอำเภอจะต้องมีความพอเพียงพอสมควร บางสิ่งบางอย่างผลิตมากกว่าความต้องการก็ขายได้ แต่ขายในที่ไม่ห่างไกลนัก ไม่ต้องเสียค่าขนส่งมากนัก…”

>>ไม่เพียงรับสั่ง แต่พระองค์ยังทรงปฏิบัติพระองค์ตามแนวทางดังกล่าวให้เห็นเป็นตัวอย่างด้วย อาทิ พระจริยวัตรที่ทรงเน้นความประหยัด เรียบง่าย ได้ประโยชน์สูงสุด ดังที่ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนาเคยเล่าว่า กองทรงงานในพระองค์ท่าน

>>โดยท่านผู้หญิงบุตรี วีระไวทยะ บอกว่าปีหนึ่งพระองค์เบิกดินสอ 12 แท่ง เดือนละแท่ง ใช้จนกระทั่งกุด ใครอย่าไปทิ้งของพระองค์ท่าน มิฉะนั้นจะทรงกริ้ว ทรงประหยัดทุกอย่างเป็นต้นแบบ ทุกอย่างมีค่าสำหรับพระองค์หมด ทุกบาททุกสตางค์จะทรงใช้อย่างระมัดระวัง และสั่งให้ข้าราชบริพารทุกคนปฏิบัติงานด้วยความรอบคอบ ดังเช่นพระราชดำรัสตอนหนึ่งว่า

“คนเราถ้าพอในความต้องการ ก็มีความโลภน้อย เมื่อมีความโลภน้อยก็เบียดเบียนคนอื่นน้อย ถ้าทุกประเทศมีความคิด อันนี้ไม่ใช่เศรษฐกิจ มีความคิดว่าทำอะไรต้องพอเพียง หมายความว่า พอประมาณไม่สุดโต่ง ไม่โลภมาก คนเราก็อยู่เป็นสุข…”

ขอขอบคุณ ข้อมูลดีๆๆ จาก

http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9490000149732


Posted

in

by

Tags:

Comments

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *