+++ ประกันชีวิตควบการลงทุน (ยูนิตลิงค์)

เนื่องจากขณะนี้หลายๆบริษัทเริ่มจะมีแบบประกันประเภทนี้ออกมามากขึ้นเรื่อยๆ แล้วแบบประกันชีวิตควบการลงทุน (ยูนิตลิงค์) แบบนี้คืออะไรกันแน่ ต่างจากแบบเดิม มีข้อดีข้อด้อยอย่างไร

   จึงรวบรวมข้อมูลแบบสรุปๆมาให้อ่านกัน เพื่อที่ทุกๆท่านจะได้นำข้อมูลไปใช้ในการตัดสินใจซื้อประกันชีวิตที่เหมาะสมกับท่านในอนาคต ก่อนอื่นผมคงต้องขออธิบายให้ท่านผู้อ่านทราบก่อนว่า เดิมประกันชีวิต 4 ประเภท ได้แก่

  • 1.แบบชั่วระยะเวลา หรือที่เรียกว่าแบบ Term แบบนี้จะเป็นแบบที่เน้นความคุ้มครองตามระยะเวลาที่ผู้เอาประกันต้องการ เช่น 10ปี ,20ปี เป็นต้น แบบชั่วระยะเวลานี้ถือว่าเบี้ยประกันต่ำที่สุดเพราะ
  • > ในกรณีที่ท่านผู้อ่านชำระเบี้ยครบแล้วหากไม่มีอะไรเกิดขึ้นกับผู้เอาประกัน ก็จะไม่ได้เงินคืนจากบริษัทรับประกัน ดังนั้นจึงเหมาะกับผู้ที่ต้องการความคุ้มครองสูงและเบี้ยประกันต่ำครับ
  • 2.แบบตลอดชีพ แบบนี้จะใกล้เคียงกับแบบประกันแบบชั่วระยะเวลาเนื่องจากเน้นคุ้มครองสูง แต่แบบนี้จะเป็นแบบที่เมื่อชำระเบี้ยประกันครบแล้วตามเงื่อนไขจะคุ้มครองผู้เอาประกันต่อไปจนตลอดชีพ (อายุ 90หรือ99 ปี แล้วแต่บริษัทรับประกัน) เช่นชำระเบี้ยประกัน20ปี คุ้มครองถึงอายุ 99ปี เป็นต้น
  • > ซึ่งแบบนี้หากผู้เอาประกันเสียชีวิตเมื่อไหร่ก็มีสิทธิรับทุนประกันที่ทำไว้ แต่หากชำระเบี้ยประกันครบแล้ว ยังไม่เสียชีวิตก็จะได้รับความคุ้มครองต่อไปเรื่อยๆ รวมถึงยังมีมูลค่ากรมธรรม์ที่สูงขึ้นด้วย ดังนั้นแบบนี้จึงเหมาะกับผู้ที่ต้องการความคุ้มครอง เช่นคุ้มครองรายได้ คุ้มครองหนี้สิน เป็นต้น
  • 3.แบบสะสมทรัพย์ ซึ่งแบบนี้แม้ว่าอัตราเบี้ยประกันจะสูงกว่าแบบตลอดชีพ แต่เป็นแบบที่นิยมในปัจจุบัน เนื่องจากเป็นแบบที่ผู้เอาประกันจะได้รับทั้งความคุ้มครองและมีการออมไปพร้อมๆกัน
  • > โดยนอกจากครบสัญญาผู้เอาประกันจะได้เงินคืนแล้ว หลายๆบริษัทรับประกันยังจะมีเงินคืนระหว่างสัญญาให้ด้วย โดยอาจจะมีเงินคืนทุกปี ทุก2ปี เป็นต้น ดังนั้นแบบนี้จึงเหมาะกับผู้ที่ต้องการออมเงินเพื่อเกษียณ หรือเป็นทุนการศึกษาบุตร
  • 4.แบบเงินได้ประจำ หรือ แบบประกันบำนาญ(Annuity) แบบนี้เพิ่งจะมีการเปิดขายไม่กี่ปีมานี้ เนื่องจากสรรพากรเพิ่งอนุมัติให้เพิ่มวงเงินลดหย่อนภาษีเพิ่มของหมวดประกันชีวิตจากเดิม 100,000 เป็น300,000 บาท เพื่อสนับสนุนการออมระยะยาวเพื่อวัยเกษียณ
  • > โดยส่วนเพิ่มอีก200,000 บาท ต้องไม่เกิน15%ของรายได้และเมื่อรวมกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กบข และ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ ต้องไม่เกิน500,000 บาท
  • > โดยแบบนี้จะเป็นแบบที่ไม่มีจ่ายเงินคืนให้กับผู้เอาประกันในระหว่างที่มีการชำระเบี้ยประกัน โดยเงินคืนจะสามารถเริ่มคืนได้ตั้งแต่อายุ55หรือ60ปีเป็นรายงวดเท่าๆกันจนถึงอายุ85ปีหรือมากกว่าเท่านั้น ดังนั้นแบบนี้จึงเป็นแบบที่เหมาะกับผู้ที่ต้องการจะวางแผนเก็บออมเพื่อวัยเกษียณอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

เรามาว่าด้วยเรื่องยูนิตลิงค์กันดีกว่า

   เมื่อไม่นานมานี้ ในธุรกิจประกันชีวิตได้เริ่มมีแบบประกันอีกแบบหนึ่งชื่อว่าแบบประกันชีวิตควบการลงทุน หรือที่มักเรียกกันสั้นๆว่า แบบประกันยูนิตลิงค์ ซึ่งเป็นแบบที่เป็นที่นิยมในต่างประเทศ

   โดยลักษณะของแบบประกันชนิดนี้จะเป็นการผสมระหว่างประกันชีวิตแบบชั่วระยะเวลากับการลงทุนผ่านกองทุนรวม ซึ่งจากแบบประกัน4แบบข้างต้นนั้น

   โดยแต่เดิมเบี้ยประกันที่ผู้เอาประกันจ่ายเข้ามาบริษัทรับประกันจะหักค่าใช้จ่ายส่วนนึงเพื่อไปเป็นค่าดำเนินการด้านความคุ้มครองและส่วนที่เหลือทางบริษัทฯจะนำไปลงทุนต่อในสินทรัพย์ต่างๆ ซึ่งโดยพื้นฐานก็จะเป็นสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำเช่นพันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรรัฐวิสาหกิจ หุ้นกู้เอกชน เป็นต้น

   จะมีไปลงทุนในหุ้นสามัญบ้างแต่ก็ไม่อาจจะลงทุนในสัดส่วนที่มากได้เนื่องจากพันธะสัญญาที่ทางบริษัทฯมีต่อผู้เอาประกันในเงื่อนไขที่ต้องมีเงินคืนเมื่อครบสัญญาบ้าง หรือต้องมีมูลค่ากรมธรรม์เพียงพอให้กับผู้เอาประกันในกรณีที่ทางผู้เอาประกันต้องการกู้ หรือไถ่ถอนออกก่อนบ้าง

   ทางบริษัทที่รับประกันต่างๆจึงต้องบริหารเบี้ยประกันที่ได้รับจากลูกค้าอย่างรัดกุมและมีความเสี่ยงในระดับต่ำ ซึ่งจากผลตอบแทนที่ลดลงของตราสารหนี้ภาครัฐ จึงมีผลทำให้ผลตอบแทนของแบบประกันลดลงไปด้วย

   ดังนั้นทางบริษัทประกันจึงได้ออกแบบประกันที่เรียกว่าแบบประกันชีวิตควบการลงทุนหรือ ยูนิตลิงค์ เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้เอาประกันที่ต้องการมีโอกาสเลือกผลตอบแทนของแบบประกันตามที่ตนเองมีความสามารถรับความเสี่ยงได้

   โดยข้อที่แตกต่างจากแบบเดิมคือบริษัทประกันชีวิตจะนำเอาเบี้ยประกันส่วนที่เหลือหลังจากหักค่าใช้จ่ายด้านการดำนินการประกันภัยหรือค่าความคุ้มครอง ไปลงทุนกับกองทุนรวมที่ผู้เอาประกันเลือกเอง (โดยปกติทางบริษัทประกันจะมีกองทุนที่ทางบริษัทคัดเลือกมาให้แล้ว)

   ซึ่งสามารถเลือกได้เองว่าจะลงทุนในกองทุนประเภทตราสารทุนกี่เปอร์เซนต์ ตราสารหนี้กี่เปอร์เซ็นต์ ซึ่งผู้เอาประกันต้องทำแบบประเมินความเสี่ยงที่เหมาะสมก่อนจะเลือกกองทุนด้วย เช่นเดียวกับการซื้อกองทุนรวมผ่านบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน

ขอขอบคุณ อนุศักดิ์ ฤทธิ์กระจ่าง กับข้อมูลดีๆๆ

บทความต้นฉบับ

Thanakrit

การเงิน การออมเงิน ประกันชีวิต และประกันภัย