ในวันที่เราผ่านหลัก 3 เข้าสู่หลัก 4 การงานเริ่มเติบโตไปในระดับผู้บริหาร รายได้ก็เติบโตขึ้นตามตำแหน่งที่สูงขึ้น แต่ในช่วงอายุนี้แหละ เป็นช่วงที่จัดว่าภาระหนักหน่วงมาก ทั้งจากตัวเองและคนรอบตัว
เริ่มที่ตัวเราก่อน หนี้สินที่เราได้ก่อไว้ในช่วงอายุ 30+ มันอาจจะยังไม่ได้ลดลงมากนักโดยเฉพาะหนี้สินที่อยู่อาศัย เมื่อรายได้เราเริ่มมากขึ้น เราจะก็พยายามผ่อนหนี้ให้เยอะขึ้นต่อเดือนเพื่อให้มันหมดเร็วๆ และเมื่อเรารายได้เยอะขึ้น ก็ต้องเตรียมเงินไว้ซื้อสินค้าทางการเงินเพื่อลดหย่อนภาษีมากขึ้นเช่นกัน
ในด้านคนรอบตัว เมื่อเราอายุ 40+ ลูก ๆ ก็เริ่มที่จะเข้าสู่วัยรุ่นเช่นกัน ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่นอกเหนือจากค่าเทอมกับค่าขนมก็จะมากขึ้นเช่นกัน ไม่ว่าจะการศึกษา และสิ่งอำนวยความสะดวกอย่างโทรศัพท์มือถือ รองเท้าและกระเป๋าแบรนด์เนม (ไม่ได้ถึงกับหรูหรา แต่ก็มีตราสินค้าที่เป็นที่รู้จัก) ที่จะเรียกว่าสินค้าฟุ่มเฟือยก็เรียกได้ไม่เต็มปาก
เพราะมันกลายเป็นมาตรฐานของวัยรุ่นยุคนี้ไปแล้ว เมื่อลูกของคนวัย 40+ เริ่มเข้าวัยรุ่น พ่อแม่ของคนวัยนี้ก็เริ่มเข้าสู่วัยชราเช่นกัน ผู้เป็นลูกก็คงจะต้องเข้ามาช่วยดูแลทั้งทางกายและทางการเงิน และอย่างที่ทราบๆ กัน ว่าค่ารักษาพยาบาลสมัยนี้ราคาสูงขนาดไหน ถ้าบ้านไหนมีพี่ๆ น้องๆ ช่วยกันดูแลภาระก็จะเบาลงไปมาก แต่ถ้าไม่มี ก็ต้องวางแผนกันให้ดีเลย
มาลองดูกันว่า คนในวัย 40+ ควรจะวางแผนการเงินและการออมอย่างไรบ้าง
อย่าทำอะไรที่สุ่มเสี่ยงเกินไป
ในวันที่เรามีภาระทั้งขึ้นบน(พ่อแม่) และลงล่าง(ลูกๆ) ต่อให้เรายังไม่มีความพร้อมที่จะออม ได้เต็มที่แค่หักเงินเดือนเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ก็อย่าไปทำอะไรที่มันสุ่มเสี่ยงเกินไป เช่นเล่นการพนัน หรือเวลาเห็นคนอื่นได้กำไรเยอะๆ ก็อยากจะได้บ้างเช่น Bitcoin ทั้งที่เราไม่รู้เรื่องอะไรแถมตัดขาดทุนไม่เป็น หรือไปลงทุนในสิ่งที่เราไม่เข้าใจ
ซึ่งการลงทุนนั้น รวมไปถึงการลงทุนในตลาดหุ้นและลงทุนในการทำธุรกิจจริง และคำว่าสุ่มเสี่ยงนั้นรวมไปถึงกิจกรรมต่าง ๆด้วย ไม่ใช่แค่เรื่องการเงินการลงทุนเพียงอย่างเดียว เช่นการเล่นกีฬาที่เสี่ยงเกินไปหรือไม่เหมาะกับวัย
ไปทำงานต่างถิ่นก็ควรจะสงบเสงี่ยมเจียมตัว เวลาขับรถก็ไม่ต้องไปใส่ใจอะไรมาก ใครอยากจะปาด อยากจะแซงหรืออยากจะแทรกก็ปล่อยเขาไป ถ้าเกิดตัวเรามีปัญหาขึ้นมา มันไม่ได้กระทบที่เราคนเดียว แต่มันจะกระทบไปที่คนรอบข้างเราด้วย ท่องไว้ พ่อแม่ ลูกเมีย(สามี)
ซื้อประกันที่มีความคุ้มครองเพียงพอและพอเพียง
อย่างที่บอกไปก่อนหน้า วัย 40+ เป็นวันที่มีภาระและความรับผิดชอบสูงมาก ถ้าเราเจ็บป่วยหรือเป็นอะไรขึ้นมา คนรอบตัวจะได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน ดังนั้นแล้ว ควรหาคนมาช่วยแชร์ความรับผิดชอบและความสูญเสียอย่างเช่นประกันชีวิตและประกันสุขภาพ สมัยนี้มีโรคใหม่ๆ เต็มไปหมด ค่ารักษาพยาบาลก็สูงขึ้นเรื่อยๆ อุบัติเหตุก็เกิดขึ้นได้ง่ายๆ
เพราะคนสมัยนี้ติดโทรศัพท์มือถือ และใจร้อนกันซะด้วย อาหารสมัยนี้ก็หน้าตาดี รสชาติดี ยิ่งเห็นผ่าน Social Media ยิ่งทำให้เราบริโภคมากกว่าที่ควรจะเป็น การทำประกันไว้ทั้งประกันชีวิตและประกันสุขภาพ มันไม่ได้คุ้มครองแค่ตัวเราเพียงอย่างเดียว แต่มันคุ้มครองไปถึงอนาคตของคนรอบตัวเราด้วย
อย่าไปมองว่ามันเป็นรายจ่ายที่ฟุ่มเฟือยหรือไม่จำเป็น เมื่อตัดสินใจว่าจะซื้อได้แล้ว อย่าลืมพิจารณาทุนประกันด้วยว่า มันเหมาะสมกับฐานะและภาระความรับผิดชอบของเราด้วยไหม อย่าให้มันน้อยไปหรือมากไป เพื่อจูงใจให้ซื้อประกัน
รัฐบาลมีนโยบายให้สามารถนำเบี้ยประกันไปลดหย่อยภาษีได้บางส่วนด้วย (ประกันชีวิตที่มีอายุกรมธรรม์ตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 100,000 บาท เบี้ยประกันสุขภาพ สามารถนำมาลดหย่อนได้สูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท แต่จะรวมอยู่ในยอด 100,000 บาทแรกด้วย ถ้าเราซื้อประกันชีวิตที่ต้องจ่ายเบี้ย 20 ปีและคุ้มครองจนถึงอายุ 90 ปี 100,000 บาท ประกันสุขภาพ 15,000 บาท เราจะสามารถลดหย่อนภาษีได้ 100,000 บาท ไม่ใช่ 115,000 บาท)
จ่ายหนี้ให้มากที่สุด
ในช่วงนี้ พยายามเคลียร์หนี้ระยะยาวที่เราได้ก่อไว้ในช่วงก่อนหน้านี้ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เช่นหนี้ที่อยู่อาศัย ผ่อนให้เยอะขึ้นต่อเดือน รีไฟแนนซ์ตามโอกาสที่ทำได้ ยิ่งจ่ายหนี้มาก ยิ่งเสียดอกเบี้ยน้อยลง และพยายามอย่าไปก่อหนี้ก่อนใหม่ขึ้นมาอีกโดยไม่จำเป็น
วางแผนเกษียณอย่างจริงจัง
เข้าใจดีว่า วันนี้เป็นวัยที่มีความรับผิดชอบสูง รายจ่ายสูง แต่รายได้เราก็สูงขึ้นมาเช่นกัน การวางแผนเกษียณ ยิ่งเริ่มเร็วยิ่งดี แต่ถ้าเราไม่ได้เริ่มตั้งแต่วัย 20+ มาถึงวัย 30+ ก็ยังไม่ได้เริ่มหรือเริ่มไม่เต็มที่ วัย 40+ เรียกได้ว่าไม่เริ่มไม่ได้แล้ว ซึ่งเครื่องมือที่จะมาช่วยให้เราเกษียณได้อย่างมั่นคงขึ้นคือเครื่องมือในการลดหย่อยภาษี
เพราะบังคับให้เราลงทุนระยะยาวแถมยังได้ประหยัดภาษีด้วย เช่น ประกันชีวิต ประกันสุขภาพ ประกันบำนาญ LTF RMF กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ อย่ามองว่ามันนานเพราะเวลาของเราเหลือน้อยมากแล้ว ผลตอบแทนในสมัยนี้ก็ไม่สูงเหมือนช่วงก่อนหน้าแล้วด้วยและน่าจะเป็นแบบนี้ไปอีกพักใหญ่ ๆ
ในเมื่อเวลาเราเหลือไม่มากนักแล้ว พอร์ต LTF กับ RMF ของเราคงจะต้องเน้นไปที่หุ้นมากหน่อย โดยจะต้องมีสัดส่วนหุ้นราว 60 – 80% และมีตราสารหนี้ราว 20 – 40% อาจจะดูว่าเน้นหุ้นมาก แต่ถ้าลงทุนระยะยาว เรายังมีโอกาสที่จะได้ซื้อถูกซื้อแพงเข้ามาเป็นระยะ ๆ ได้เฉลี่ยต้นทุนไปเรื่อย ๆ ไม่ต้องกังวลเรื่องติดดอยนัก
ถ้าเราลดหย่อยภาษีจนเต็มที่แล้วแต่ยังมีเงินเหลือ ก็ยังแนะนำให้ซื้อกองทุนเพื่อการออมระยะยาวเช่นกัน จะเลือกกองหุ้นไทย หุ้นต่างประเทศ หรือกองผสมก็แล้วแต่ความต้องการของแต่ละคน
ลงทุนกับตัวเอง
หนึ่งในการลงทุนที่ดีที่สุด คือการลงทุนในตัวเราเอง อ่านหนังสือ หรือไปสัมมนาในเรื่องที่เราสนใจ ไม่จำเป็นจะต้องเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับอาชีพของเราก็ได้ จะได้มีความรู้ที่หลากหลายและได้เพื่อนใหม่ๆ ด้วย
ออกกำลังกายก็เป็นการลงทุนที่ดี เราจะได้มีสุขภาพแข็งแรงไม่เจ็บป่วยง่าย อยู่เป็นที่พึ่งให้กับครอบครัวได้นานๆ และเป็นการพัฒนาบุคลิกภาพที่ดีแถมช่วยคลายความเครียดด้วย สุดท้าย การฝึกนั่งสมาธิก็เป็นอีกเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม เราจะได้มีสติ ช่วยให้เราใช้เหตุผลมากกว่าอารมณ์ ความสัมพันธ์ในครอบครัวกับเพื่อนร่วมงานก็จะราบรื่นไปด้วยดี
ในวัยที่ความรับผิดชอบสูง บางทีอาจจะสูงกว่ารายได้ที่เพิ่มมากขึ้นด้วย เราอยู่ในยุคที่อาจจะต้องเกษียณช้ากว่าที่คิดเนื่องจากเด็กเกิดใหม่น้อย รวมไปถึงเงินเก็บที่อาจจะยังไม่พอที่จะเกษียณ หรืออีกด้านหนึ่ง เราอาจจะต้องเกษียณเร็วกว่าที่วางแผนไว้ ไม่ใช้ว่าถูกหวย แต่โดนพวกหุ่นยนต์และ AI เข้ามาแทนที่ การวางแผนทางการเงินเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่ง และถ้าวางแผนไว้แล้ว คงจะต้องตรวจสอบแผนเป็นระยะๆ เพราะโลกการเงินมันก็เปลี่ยนไปมากและเร็วอย่างคาดไม่ถึง
#SCBS
ใส่ความเห็น